ตุงล้านนา ธงชัยของชาวเหนือ


"ตุง" เป็นภาษาล้านนาใช้เรียก “ธง” ทุกชนิดว่า ตุง
ไม่ว่าจะเป็นแบบผืนยาวๆ ผูกติดยอดเสาปล่อยชายห้อยลงมา หรือ แบบเป็นผืนสามเหลี่ยมสี่เหลี่ยมสั้นๆ
ผูกให้ห้อยลงมาหรือผูกด้านขวางให้ชายตุงไปทางด้านข้างๆ ตุงมีหลายขนาดหลายแบบหลายสี
ทำจากวัสดุหลายชนิด เช่น ผ้าทอเป็นผืนทึบตลอดทั้งผืน หรือทอทึบสลับกับลายโปร่งตลอดทั้งผืน
ทำจากกระดาษสา กระดาษสี ไม้กระดานเป็น โลหะทองคำ ทองเหลือง เหล็ก สังกะสี ตะกั่ว ดีบุก
ตุง มีหลายชนิดหลายแบบ แต่ละแบบแต่ละชนิดมีรูปร่าง สี การประดับตกแต่ง
 
วิธีทำและใช้ประโยชน์เนื่องในงานพิธีกรรม แตกต่างกันออกไปแล้วแต่กรณีความเชื่อในเรื่องตุงหรือการ
“ ตานตุง ” และใช้ตุงในพิธีกรรมต่าง ๆ ดังนี้

๑ . เพื่อเป็นเครื่องหมายแสดงถึง ชัยชนะ ความปิติชื่นชม เกียรติยศ ความสำเร็จ

๒ . เป็นเครื่องหมายแสดงที่ตั้ง สถานที่จับจอง

๓ . เป็นการอุทิศ ส่วนบุญกุศลแก่ตัวเอง และแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ให้อยู่สุขสบายหลุดพ้น จากห้วงนรก

๔ . ใช้เป็นเครื่องบูชาเทวดา ภูตผี ในพิธีสืบชะตา สะเดาะเคราะห์

๕ . เป็นเครื่องหมายนำขบวนแห่เครื่องไทยทาน (ริ้วธง) เช่น ตุงจ้อจ้าง
และนำขบวนแห่ศพเข้าสู่ป่าช้า คือตุงสามหางความจริง 

ผู้คนสมัยก่อน เลื่อมใสนับถือพระพุทธศาสนาอย่างลุ่มลึกด้วยความบริสุทธิ์ใจ
จึงได้มีการกล่าวถึงพระพุทธเจ้าถึง ๕ พระองค์ และได้คิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์ตุงไจยเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ด้วยตุงไจยที่มีองค์ประกอบดังนี้

- ประดิษฐ์ ตัวไก่ จับบนก๊าง (ค้าง) ตุงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่า กกุสันโธ
- ประดิษฐ์ตัวตุงให้ยาวดั่ง ตัวนาค เพื่อบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่า โกนาคม
- ประดิษฐ์ลวดลายตารางตกแต่งตัวตุงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสโป
- ประดิษฐ์ลูกตาวัว เครื่องประดับตัวตุงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคตมะ (องค์ปัจจุบัน)
- ประดิษฐ์ก๊าง (ค้าง) ตุงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าพระนามว่า พระศรีอริยเมตไตร
ซึ่งจะมาบังเกิดอีกราว ๒๕๐๐ ปีข้างหน้า เมื่อประดิษฐ์ตุงไจยเสร็จจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยมาประพรมไล่เสนียดจัญไร สิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปจากตุง ให้หมดใสงดงามไร้มลทิน หลังจากนั้นจัดทำสวย (กรวย) ดอกไม้ จัดขัน (พาน) เพื่อนำตุงวางในขันแล้วนำไปถวายพระด้วยจิตใจปลื้มปิติ ก้มกราบรับพระในรำลึกถึงพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ ด้วยเชื่อและหวังให้ตุงนำวิญญาณขึ้นสวรรค์เมื่อตนเองสิ้นชีวิตไปแล้ว หลังจากถวายตุงแล้วนำตุงมัดปลายก๊างติดปลายเสา นำเสาตุงไปฝังใกล้ขอบทางเดินแล้วนำหลักสั้นไปตอกใกล้โคนเสาตุงเพื่อผูกมัด เสาตุงติดหลักให้มั่นคงแล้วปล่อยให้ตุงแขวนติดก๊างให้ปลายตุงด้านล่างสูงราวศีรษะของเจ้าของเชื่อว่าตุงได้พ้นจากผิวพื้นดินไม่ปนเปื้อนฝุ่น ปล่อยให้ตุงโบกไสวสง่างามบอกให้เทวดาฟ้าดินรับทราบถึงศรัทธาใบบุญ แต่เจ้าของตุงบางคนไม่นิยมนำตุงไจยไปปักกลางแจ้ง ก็จะนำตุงไปแขวนบูชาไว้ในพระวิหาร แขวนในโบสถ์ให้ตุงเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าอย่างถาวร หลังจากนั้นจึงทำการหยาดน้ำตาน (ทาน) ตุงอีกครั้งฝากบอกเทวดาฟ้าดินขอให้ปกปักรักษาตุงมิให้เสียหาย

 
Design by Free WordPress Themes | Blogger Theme by Lasantha - Premium Blogger Templates | Affiliate Network Reviews